VUCA สภาวะความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนยุ่งเหยิง และคลุมเครือ

โลกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงสูง - ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติให้สัมภาษณ์พิเศษในวารสาร “การเงินธนาคาร” ฉบับเดือนสิงหาคมว่า สถานการณ์ของโลกวันนี้ นักเศรษฐศาสตร์แบงก์ชาติ เรียกว่า VUCA ซึ่งมาจากคำ 4 คำคือ V–Volatility มีความผันผวนสูงมาก U–Uncertainty มีความไม่แน่นอนจำนวนมาก C–Com-plexity มีความซับซ้อนมากขึ้น การทำแบบเดิมๆอาจไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่เคยเป็น เพราะมีความซับซ้อนมากขึ้น และ A–Ambiguity ความไม่ชัดเจนของผลลัพธ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น ระหว่างทางจะมีทางสองแพร่งอยู่ตลอดเวลาที่จะนำไปสู่ Scenario ที่ต่างกัน ฟังแล้วก็มึนตึ้บนะครับ เพราะมันซับซ้อนจนยากที่จะแปลออกมาให้เข้าใจได้ง่าย

ผมฟังแล้วก็ขอสรุปตามความรู้สึกของผมเองก็คือ สถานการณ์โลกวันนี้อยู่ยากขึ้นทุกวัน ไม่ว่า ภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเงิน การลงทุน ทุกอย่างล้วนตกอยู่ในสภาวะ ผันผวน มีความไม่แน่นอนสูง และ ซับซ้อนมากขึ้น จนอาจทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เป็นไปอย่างที่เคยเป็น จนมีภาษาแปลกๆที่เรียกว่า New Normal หรือ ความปกติใหม่ ที่เป็น ความไม่ปกติเก่า เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ดร.วิรไท ได้ยกตัวอย่างกรณี Brexit การลงประชามติให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ นายเดวิด คาเมรอน จัดให้มีการลงประชามติตามนโยบายที่หาเสียงไว้ในปี 2558 ซึ่งไม่ได้คาดคิดว่าผลการลงประชามติจะออกมาเป็น Brexit หรือการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

กรณี Brexit มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ทำให้สถานการณ์พัฒนาไปไกลจากความตั้งใจเดิม ที่เพียงเพื่อสร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลกลายเป็นการสร้างความผันผวนไปทั้งยุโรป และมีผลกระทบไปทั่วโลก

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลประเทศอื่นๆก็มีมาตรการตอบสนองประกอบกับมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้อง ทำให้สถานการณ์ในช่วง 2-3 ปีนี้ค่อนข้างจะมีพลวัตและความเปลี่ยนแปลงที่ยากจะคาดเดา อาจเกิดขึ้นได้หลาย Scenario

ดร.วิรไท ฟันธงว่า ซีนาริโอที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไป และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง ผมขอยกตัวอย่างมาแค่เรื่องเดียว เพราะเนื้อที่ไม่พอ บางเรื่องก็กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย เพียงแต่มันซับซ้อนและซ่อนลึกอยู่ในระบบ ทำให้รัฐบาลมองไม่เห็น ต้องแงะพื้นกระดานที่เป็น Normal ออกมา จึงจะเห็น New Normal ที่เป็นพื้นฐานใหม่ที่แท้จริงที่เป็นอยู่

เรื่อง 1 ใน 3 ที่ ดร.วิรไท แสดงความเป็นห่วงกังวลมาก และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นก็คือ ภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปจะมีความเปราะบางมากขึ้น จากเหตุการณ์ Brexit และสถานการณ์ดอกเบี้ยที่จะต่ำต่อไปอีกเป็นระยะเวลานาน จะมีผลกระทบต่อระบบการเงินในยุโรป ธนาคารพาณิชย์บางแห่งในยุโรป ก็ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบบ้างแล้ว ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยง มีการชะลอการปล่อยสินเชื่อ แม้ว่าธนาคารกลางจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีก แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่ม เพราะกังวลในความเสี่ยงที่มีมากขึ้น

เรื่องดังกล่าว ยังส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว ซึ่งในวันนี้เริ่มเห็นพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลในยุโรปมีอัตราผลตอบแทนติดลบ และส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของพันธบัตรทั่วโลก

ที่เล่ามานี้เป็นผลกระทบเพียงเรื่องเดียวนะครับ ยังไม่นับอีก 2 เรื่อง แต่แค่เรื่องเดียวก็ส่งผลกระทบไปถึงกระเป๋าเงินของคนทั่วโลกทุกครัวเรือน ไม่เว้นแม้แต่ “คนไทย” วันนี้ก็มี “ผลตอบแทนติดลบ” จากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ต่ำเตี้ยในธนาคาร เมื่อหักค่าเงินเฟ้อออกไปแล้วก็ไม่เหลืออะไรเลย

คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย โดย“ลม เปลี่ยนทิศ”
Source: ไทยรัฐ

source: TheCoach.in.th
VUCA ย่อมาจาก Volatility (คาดเดายาก) Uncertainty (ไม่แน่นอน) Complexity (ซับซ้อน) และ Ambiguity (คลุมเครือ) เป็นศัพท์ทางการทหารในยุค ค.ศ. 1990 ต่อมาก็นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในเชิงยุทธศาสตร์ภาวะผู้นำในหลากหลายองค์กร


องค์กรส่วนใหญ่พร้อมรับมือโลกของ VUCA เพียงใด

ไม่มากนัก

เพราะอะไร

เพราะองค์กรส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาด้วยลักษณะ
- โครงสร้างองค์กรที่ไม่มีพลวัตร (นิ่ง)
- การสื่อสารข้อมูลภายในที่มีแนวทางที่ชัดเจน
- กระบวนการที่เป็นขั้นเป็นตอนเพื่อรองรับงานที่ไหลเวียนในอัตราปกติ
- ความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน
- ทักษะที่จำเป็นเพื่อตอบสนองภาวะตามที่กล่าว
- การตัดสินใจที่มีคุณภาพด้วยข้อมูลที่พอสมควรภายในกรอบเวลาที่สมเหตุสมผล

สิ่งเหล่านี้มีนัยสำคัญอะไรต่อผู้นำ
- การไหลเวียนของข้อมูลตอบสนองไม่ทันต่อสถานการณ์
- การจัดลำดับความสำคัญไม่ทันการ
- การตัดสินใจผิดมากเกินควร
- ขายไอเดียให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยากขึ้น
- เป็นเบี้ยล่างคอยตั้งรับการเปลี่ยนแปลง
- ความสับสนของคนทำงาน

แล้วผู้นำจะนำพาทีมฝ่าโลกของ VUCA อย่างไรดี

ต้องเริ่มที่ทัศนคติที่ถูกต้องก่อน ด้วยการคิดว่าการทำผิดเป็นส่วนหนึ่งของงาน เราหลีกเลี่ยงการไม่ทำผิดไม่ได้ แต่เราทำให้มันน้อยลงได้ เมื่อเกิดความผิดพลาดมองหาทางแก้ไขแทนที่จะมองหาคนผิดเพื่อตำหนิ เรียนรู้ที่จะตั้งคำถามที่ถูกต้องกับบุคคลที่ถูกต้อง อะไรคือคำถามที่ถูกต้องในปัญหานี้ ใครบ้างคือคนที่เราควรจะถามบ้าง

เลือกรูปแบบภาวะผู้นำที่เหมาะกับสถานการณ์ เรามีทางเลือกว่าจะใช้แบบ ควบคุมและสั่งการ หรือแบบมีส่วนร่วมและสร้างแรงบันดาลใจ แต่ละวิธีหากใช้ให้เหมาะกับบริบทก็ดีทั้งคู่ ผู้นำต้องมีสติหมั่นสังเกตตนเองว่าเมื่อใดที่ตนเองไม่ถนัดในแบบไหนแต่จำเป็นต้องใช้วิธีการแบบนั้นและใช้ให้ได้ดีที่สุด


เมื่อความคิดมาถูกทางแล้ว เราลองมาดูเทคนิคอื่น ๆ เพิ่มเติมกัน

1. บริหารแบบเข้มข้น ในหนังสือ Leadership in the era of economic uncertainty by Ram Charan ผู้เขียนบอกว่า “ผู้นำต้องใช้วิธี การจัดการแบบเข้มข้น คือการลงมาคลุกคลีกับรายละเอียดของงานในระดับปฏิบัติการ และไม่ลืมที่จะดูโลกภายนอก ด้วยความรอบรู้และติดตามอยู่ตลอดเวลา คุณไม่อาจนั่งอยู่แต่ในห้องทำงานของคุณ อ่านรายงานแล้วสั่งการได้อีกต่อไป คุณจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างดีในเรื่องที่เกิดขึ้นภายนอกบริษัท เข้าใจผลกระทบที่มันมีต่อลูกค้าและงานของคุณ คุณจะต้องหมั่นดูแผนงานและความคืบหน้าของแผนเสมอจนเกือบจะเป็นกิจวัตรประจำวัน คุณไม่อาจละทิ้งการดูภาพรวม การมองอนาคต และการคิดระดับกลยุทธ์ไปได้เลย ผู้นำต้องเข้ามามีส่วนร่วมในงาน ออกมาปรากฏตัว และทำการสื่อสารทุกๆวัน” เมื่อเกาะติดงานแล้ว เรามาจัดลำดับความสำคัญกัน

2. จัดลำดับความสำคัญถี่ขึ้น ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละอุตสาหกรรม หลักการก็คือต้องทำให้ถี่ขึ้นเพื่อให้การจัดลำดับงานนั้นสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไวตลอดเวลา แล้วก็รีบสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ทันเวลา

3. อำนวยความสะดวกเรื่องการไหลเวียนของข้อมูล อย่าสื่อสาร “แบบปกติ” เพราะเราอยู่บน “ความปกติใหม่” (NewNormal) บนโลกของ VUCA ดังนั้นเราต้องคอยเตือนคนทำงานเสมอว่าต้องตระหนักในเรื่องของการไหลเวียนข้อมูลที่สำคัญ เมื่อใดก็ตามที่เราวางแผนงานเสร็จ ก่อนลงมือทำ ถาม “วิธีการไหลเวียนของข้อมูลของงานนี้ควรจะเป็นอย่างไร” “เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลไปถึงคนที่รับภายในเวลาอันสมควร” “อาจเกิดความผิดพลาดอะไรเกี่ยวกับการไหลเวียนของข้อมูลแผนงานนี้”

4. ตัดสินใจอย่างเหมาะสมด้วยการยอมรับความเสี่ยงที่พอรับได้ การตัดสินใจที่เหมาะสมในโลก VUCA หมายถึงการตัดสินใจที่มีข้อมูลจำกัดในเวลาจำกัด จากหนังสือ: Work smarts: What CEOs say you need to know to get ahead โดย Betty Liu เธอยกคำพูดของ Martin Sorrell - CEO of WPP plc, “การตัดสินใจที่แย่ในวันจันทร์ที่กว่าการตัดสินใจที่เยี่ยมในวันศุกร์”

และสำหรับการยอมรับความเสี่ยงที่พอรับได้คือการที่เราตระหนักว่ามันอาจจะพลาดได้ ทำให้เราคอยตั้งสติรีบลงมือแก้ไขได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดพลาดขึ้นมาจริง ๆ แทนที่จะเคยลอยชายแบบในอดีต

5. กระตุ้นทีมงานให้ตื่นตัวรับโลก VUCA ซึ่งน่าจะเป็นงานที่ท้าทายที่สุดของผู้นำ

เพราะอะไร

เพราะมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่ผูกกับนิสัย เราทำในสิ่งที่เราเคยทำมาเพราะมันคุ้นเคย จนกระทั่งกลายเป็นอัตโนมัติไปแล้ว ในโลกของ VUCA หมายความว่าเราต้องละเลิกหลายอย่างที่เราคุ้นเคยไป

ผู้นำที่เก่ง ๆ เขาทำอย่างไร

พวกเขาสื่อสารสม่ำเสมอเรื่องโลกของ VUCA ไม่ใช่แค่ทำ Town Hall แล้วก็จบโดยหวังว่าคนจะจำได้ คนส่วนใหญ่อาจจะได้ยิน จะมีกี่คนเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการสื่อสารการเปลี่ยนแปลงต้องวางแผน และทำให้มากจนกระทั่งกลายเป็นคาถาในองค์กรกันไปเลย

ผู้นำจะสร้างแรงบันดาลใจกับคนที่เป็นกลุ่มไฟแรง เพื่อให้เขาสร้างความผูกพันในงานให้มากขึ้น วิธีการก็หลากหลาย ผู้นำต้องสังเกตและประยุกต์ใช้มัน

คนผลงานปานกลาง เราก็ต้องพยายามผลักดันให้เขาทุ่มเทให้มากขึ้น เพื่อให้เขาออกจากพื้นที่แห่งความสบาย

พวกผลงานต่ำ ก็ถึงเวลาที่ต้องกดดันกันบ้างเพื่อให้เขาพยายามให้มากขึ้นไปอีก

การนำองค์กรในโลกของ VUCA นั้นต้องใช้ทั้งความคิดใหม่และวิธีการใหม่ ทำให้เหมาะ แล้วเราจะฝ่าฟันไปด้วยกัน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น