มวยไทย ศิลปะการต่อสู้แห่งความเป็นไทย


มวยไทย ศิลปะการต่อสู้ของชนชาติไทยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่โบราณ ย้อนกลับไปได้ถึงยุคสมัยสุโขทัย คนไทยใช้ศิลปะแม่ไม้มวยไทยประกอบกับศิลปะการต่อสู้อื่นๆ ปกปักรักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยจากอริราชศัตรูมาหลายยุคหายสมัย ด้วยพิษสงที่ร้ายกาจของศิลปะการต่อสู้ด้วยร่างกายเปล่าๆ แต่เสมือนกับว่ามีอาวุธรายล้อมอยู่รอบตัว ถึงขนาดที่ศัตรูคู่ต่อกรก็ยังต้องยอมสยบ และยอมรับในความฉกาจฉกรรจ์ของพิษสงแห่งศิลปะแม่ไม้มวยไทย ศิลปะการต่อสู้จากประเทศไทย ที่ใช้หมัด ศอก แขนท่อนล่าง เท้า แข้ง เข่า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศีรษะ และลำตัวในการต่อสู้ ศิลปะการต่อสู้ลักษณะนี้ สามารถพบเห็นได้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การชกมวยไทยในสมัยโบราณเป็นการต่อสู้กันแบบตัวต่อตัว ต่อสู้กันจริง ๆ และหวาดเสียวตื่นเต้นมากกว่าสมัยนี้นักมวยสมัยเก่าต้องใช้ด้าย ดิบชุบแป้งให้แข็ง เส้นโตขนาดดินสอดำพันมือตั้งแต่สันมือตลอดถึงข้อศอก และพันรัดเป็นปมทางด้านหลังของข้อนิ้วมือ (สันหมัด) เป็นรูปก้นหอยที่เรียกว่า “คาดเชือก” ซึ่งไม่มีการสวมนวมเหมือนอย่างสมัยปัจจุบัน ฉะนั้นการชกแข่งขันในสมัยนั้นเมื่อถูกชกใบหน้า หรือเพียงแต่เฉียดผิดหนังส่วนใดส่วนหนึ่งไปเท่านั้น ก็แน่นอนทีเดียวว่าจะทำให้เลือดซึมออกมาทันที ในสมัยก่อน เมื่อครั้งยังไม่มีกติกาข้อห้ามมากนัก กับทั้งไม่รัดกุมเหมือนสมัยปัจจุบัน นักมวยทั้งสองฝ่ายจะ ต้องต่อสู้กันอย่างระมัดระวัง ศีรษะก็ใช้ชนคู่ต่อสู้ได้ เพียงแต่ห้ามกัดกันเท่านั้นต่อมาได้แก้ไขปรับปรุงกติกาการแข่งขันเรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

การแข่งขันนักมวยทั้งสองจะทำการไหว้ครูและร่ายรำ คือ กราบสามครั้ง เพื่อระลึกถึง บิดา มารดา ครูอาจารย์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ ตลอดจนขอคุณพระศรีรัตนตรัย หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาช่วยคุ้มครอง และขอให้ได้ชัยชนะด้วยความปลอดภัยในที่สุดแล้วจึงร่ายรำไปรอบ ๆ เวทีตามแบบ ฉบับของครูที่ได้สอนไว้ให้โดยตลอด นักมวยทุกคนจะสวม “มงคล” ที่ศรีษะมงคลนี้ทำด้วยด้ายดิบหลายเส้นรวมกันแล้วพันหุ้มด้วยผ้าโตขนาดนิ้วมือทำเป็น รูปบ่วงเพื่อสวมศีรษะ การสวมมงคลไว้ก่อนแข่งขันนี้เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งครูอาจารย์ได้ทำพิธีปลุกเสก และให้ความเป็นสิริมงคลไว้แก่ตน ฉะนั้นนักมวยจะสวมมงคลไว้ตลอดเวลาที่ทำการไหว้ครูและร่ายรำ และจะถอดออกจากศีรษะได้ในเมื่อจะเริ่มการแข่งขัน ในระหว่างการไหว้ครูและร่ายรำนั้นจะมีดนตรีบรรเลงประกอบตามทำนอง ของดนตรีไทยเป็นจังหวะช้า ๆ เครื่องดนตรีเหล่านั้นได้แก่ ปี่ชวา กลองแขก 2 และฉิ่ง 1 เมื่อถอดมงคลแล้วกรรมการผู้ชี้ขาดจะให้นักมวยทั้งสองมาจับมือกัน ซึ่งเป็นการแสดงถึงการมีน้ำใจเป็นนักกีฬาพร้อมกันนั้นก็จะตักเตือนกติกาสำคัญ ๆ อันเกี่ยวกับการแข่งขันให้นักมวยทั้งสองได้ทราบ ครั้นเมื่อการต่อสู้ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังแล้วดนตรีบรรเลงในทำนองเร่งเร้าให้นักมวยทั้งสองเกิดความ รู้สึกฮึกเหิมและมุ่งเข้าต่อสู้กันอย่างดุเดือด การร่ายรำและการต่อสู้โดยมีดนตรีประกอบนั้น นอกจากจะถือว่าเป็นศิลปะแล้ว ยังเป็นประเพณีอันดีงามของ ชาวไทยมาแต่โบราณกาล จนไม่อาจจะทิ้งให้สูญหายไปเสียได้ ครูมวยไทยสมัยก่อนได้จัดแม่ไม้มวยไทยเป็น 15 ท่าดังนี้
  1. สลับฟันปลา - ใช้รับและหลบหมัดตรงของคู่ต่อสู้ที่ชกนำโดยหลบออกวงนอก นอกลำแขนของคู่ต่อสู้ ทำให้หมัดเลยหน้าไป
  2. ปักษาแหวกรัง - คือการเข้าคลุกวงในของคู่ต่อสู้โดยใช้หมัดเบิกทาง หรือหลบการจู่โจมของคู่ต่อสู้ด้วยการปัดป้องพร้อมกับเข้าประชิดตัว
  3. ขวาซัดหอก - ใช้หลบหมัดตรงออกทางวงนอก และโต้ตอบด้วยการแทงศอก
  4. อิเหนาแทงกริช - รับหมัดของคู่ต่อสู้พร้อมกับแทงศอกเพื่อเข้าคลุกวงใน
  5. ยอเขาพระสุเมรุ - ก้มตัวรับหมัดตรงและสืบเท้าเข้าคลุกวงในพร้อมกับชกเสยคาง
  6. ตาเถรค้ำฝัก - รับหมัดจากคู่ต่อสู้พร้อมกับปัดขึ้นข้างบน
  7. มอญยันหลัก - ถีบยันคู่ต่อสู้ที่กำลังจะเข้ามาจู่โจม
  8. ปักลูกทอย - รับลูกเตะสูงด้วยการใช้ศอกทิ่มเข้าที่หน้าแข้งคู่ต่อสู้
  9. จระเข้ฟาดหาง - ใช้ส้นเท้าฟาดไปที่ต้นคอ หรือท้ายทอยคู่ต่อสู้ เมื่อคู่ต่อสู้ถลำหรือเสียหลัก
  10. หักงวงไอยรา - รับลูกเตะด้วยการหนีบเข้ากับลำตัวพร้อมกับใช้ศอกอีกข้างแทงเข้าไปที่ต้นขาของคู่ต่อสู้
  11. นาคาบิดหาง - ใช้สองมือจับปลายเท้าคู่ต่อสู้ที่เตะหรือถีบเข้ามา พร้อมกับแทงเข่าที่ขา
  12. วิรุฬหกกลับ - ในขณะที่คู่ต่อสู้กำลังจะเตะ ใช้ส้นเท้ากระแทกเข้าที่ต้นขาข้างที่เตะของคู่ต่อสู้
  13. ดับชวาลา - ปัดหมัดที่ชกเข้ามา แล้วใช้หมัดอีกข้างชกสวนกลับไป
  14. ขุนยักษ์จับลิง - เป็นท่ารับและสวนคู่ต่อสู้โดยใช้หมัด เท้า เข่า ศอก
  15. หักคอเอราวัณ - ใช้สองมือโน้มคอคู่ต่อสู้ให้ก้มลง จากนั้นตีเข่าเข้ากระแทกที่ใบหน้า
นอกจากแม่ไม้มวยไทยที่ถือเป็นท่าหลักแล้ว ยังมีท่าทางอีกมากมายที่เขียนบันทึกเป็นตำราการต่อสู้ของมวยไทย ทั้งกลมวย เชิงมวย ลูกไม้มวยไทย หรือไม้เกร็ด ซึ่งแต่ละอย่างนั้นล้วนแล้วแต่ดุดัน สวยงาม และแฝงด้วยพิษสงทั้งสิ้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น