อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มขยายตัว

โดย คุณจันทร์เพ็ญ กิตติเวทย์วิทยา

แม้ว่าประเทศไทยจะผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงถึงขั้นปิดสนามบิน มีการชุมนุม ประท้วงหลายครั้งจากหลายกลุ่มจนเกิดจราจล และยังพบกับอุทกภัยในหลายพื้นที่ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดีต่อเนื่องและทำสถิติใหม่สูงมากขึ้นทุกปี โดยในปีพ.ศ. 2554 มีจำนวน 19.23 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 20.7 ขณะที่ช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้มีถึง 17.7 ล้านคนแล้ว และคาดว่าทั้งปีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคน

The World’s Best Award 2012 คือรางวัลที่นิตยสารท่องเที่ยวของสหรัฐฯ มอบให้กับกรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็น “เมืองที่ดีที่สุดในโลก” นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ยังได้รับรางวัล “เมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของเอเชีย” โดยได้รับรางวัลนี้ติดต่อกัน 3 ปีซ้อนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 ถึงปีนี้ ขณะที่ Global Blue ยกให้กรุงเทพฯ ติดอันดับ 7 ในดัชนี “เมืองชอปปิ้งทั่วโลก” (Globe Shopper Index) เนื่องจากความโดดเด่นด้านราคาที่พักที่คุ้มค่า ประหยัด มีร้านอาหารที่มีราคาเหมาะสม มีแบรนด์สินค้าชั้นนำระดับโลกมากมาย และมีการจัดเทศกาลลดราคาที่ยาวนาน

นอกเหนือจากได้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดแล้ว เรายังได้ชื่อว่าเป็น Medical hub สำหรับชาว Middle East อีกด้วย ความนิยมในบริการทางการแพทย์ของไทยมีแค่ไหนให้ดูได้ที่โรงพยาบาลในคูเวตที่ดึงดูดคนไข้โดยการให้พนักงานต้อน รับแต่งชุดไทยเพื่อบริการลูกค้าในประเทศตนเอง อันแสดงว่าชาวคูเวตนิยมมารักษาที่โรงพยาบาลในไทยเป็นอย่างมาก และที่น่าสนใจแต่อาจยังไม่ค่อยมีใครทราบนักก็คือ ไทยเป็นสถานที่แต่งงานที่ชื่นชอบของชาวอินเดียด้วยเช่นกัน

สาเหตุที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นทุกปี
  • การขยายตัวของชนชั้นกลางในเอเชียและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนเอเชียซื้อสินค้า บริการ และเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งนี้ร้อยละ 50 ของยอดขายสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยมาจากแรงซื้อของชาวเอเชียโดยเฉพาะจีนซึ่งมีเศรษฐีใหม่จำนวนมาก ได้มีการคาดการณ์กันว่าภายในปีพ.ศ. 2558 คนจีนจะเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศกว่า 80 ล้านคน (จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกปีพ.ศ. 2554 เท่ากับ 983 ล้านคน) ปีพ.ศ. 2554 คนจีนเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า หรือมีจำนวนกว่า 1.8 ล้านคน และใช้จ่ายเงินรวมกันมากถึง 5.2 หมื่นล้านบาท หรือเฉลี่ยเกือบ 3 หมื่นบาทต่อคนต่อครั้ง
  • การขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำและการเพิ่มจำนวนโรงแรมแบบ Economy ทำให้ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวปรับลดลง นอกจากนี้ เทคโนโลยีสื่อสารก็ทำให้ช่องทางการเข้าถึงบริการต่างๆ ง่ายขึ้น ทั้งยังประหยัดเวลาและเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งตรงกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่
  • คนรุ่นใหม่มีวิถีชีวิตที่รักการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางและที่พักจะลดลงแล้ว การเดินทางก็ยังสะดวกรวดเร็วมากขึ้นด้วย รวมทั้งมีแรงกระตุ้นจากการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ เป็นต้น
  • การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุน และเกิดการพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศ อันจะส่งผลให้การท่องเที่ยวขยายตัวได้มากขึ้น เช่น การเพิ่มเส้นทางบินตรงจากจีน-เชียงใหม่ ทำให้เชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนมากขึ้น หรือการสร้าง Railway Linking ระหว่างลาวและเวียดนาม การเปิดประเทศของพม่าเพื่อต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดึงให้คนเดินทางเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้นและส่งต่อไปยังการท่องเที่ยว
จากปัจจัยข้างต้น ประกอบกับการขยายตัวของตลาดที่เรียกว่า MICE (Meetings,Incentives, Conferences, Exhibitions) ส่งผลให้ ASEAN ซึ่งมีไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคกลายเป็น เป้าหมายดึงดูดการลงทุนจากแบรนด์โรงแรมในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Starwood, Marriott, Inter Continental และ Movenpick ที่พยายามสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งในภูมิภาคนี้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ให้มาใช้บริการของตน ทั้งยังเตรียมพร้อมขยายตลาดเข้าสู่พม่าอีกด้วย ทั้งนี้ CBRE (Real Estate Agency) คาดการณ์ว่า ภายในปีพ.ศ. 2557 กรุงเทพฯ บาหลี และ โฮจิมินห์ จะมีจำนวนโรงแรมระดับ 4-5 ดาวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกกว่าร้อยละ 20

โอกาสเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัวและเตรียมรองรับกระแสการท่องเที่ยวเช่นกัน ซึ่งเห็นได้จากการขยายจำนวนโรงแรมระดับ Economy เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม RIC (รัสเซีย อินเดีย จีน) ที่เพิ่มขึ้นและครองสัดส่วนมากที่สุดประมาณร้อยละ 18 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาในไทย และนิยมเที่ยวเป็นหมู่คณะ กับเข้าพักในโรงแรมราคาประหยัด นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่าง เซ็ลทรัล โรงแรมปาร์คนายเลิศ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ยูนิเวนเจอร์ และ โนเบิล ในการสร้าง “เพลินจิต ซิตี้” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งช็อปปิ้ง ระดับไฮ-เอ็นด์แห่งใหม่อีกด้วย

ในต่างจังหวัดก็มีการขยายศูนย์การค้าออกไปยังเมืองท่องเที่ยวและจังหวัดที่อยู่ใกล้ชายแดน เช่น สมุย ภูเก็ต อุดรธานี ขอนแก่น ลำปาง ฯลฯ เพื่อรองรับกำลังซื้อทั้งจากคนในท้องที่ และจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และทำให้คนท้องถิ่นมีเงินเพิ่มขึ้นเพื่อจับจ่ายใช้สอยในการอุปโภค บริโภคตามมาด้วย

ทีมจัดการกองทุนของกองทุนบัวหลวงยังคงให้ความสำคัญต่อการลงทุนในภาคการบริการต้อนรับ (Hospitality) ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสายการบินและธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากการท่องเที่ยวช่วยสร้างรายได้ให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และครัวเรือน ทำให้ประชากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางมีกำลังซื้อในระดับที่สูงขึ้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น