ธงไตรรงค์ ธงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย


ธงไตรรงค์ ธงชาติไทย
เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยหรือชาติไทยที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย ซึ่งมีความหมายแสดงความเป็นเอกราชอธิปไตยของชาติ รวมทั้งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ธงชาติจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ต้องได้รับความเคารพอย่างสูง และยังมีความสำคัญทางจิตใจที่แสดงถึงความรักชาติ ความรู้สึกที่มีร่วมกันของคนในชาติ นอกจากนั้นยังเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจลบหลู่ และสามารถเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ

ข้อบังคับเกี่ยวกับธงชาติ ภายในประเทศไทยใช้ชักได้แต่ธงชาติไทย ธงชาติของต่างประเทศชักได้ในกรณีต่อไปนี้
๑. ชักสถานทูต หรือสถานกงสุลตามธรรมเนียมและกฎหมายระหว่างประเทศ
๒. ชักธงบนเรือต่างประเทศ หรืออากาศยานต่างประเทศตามธรรมเนียมและกฎหมายระหว่างประเทศ
๓. ชักธงในโอกาสที่ประมุขแห่งรัฐหรือผู้แทนเดินทางมาเยือนประเทศไทย
๔. ชักในโอกาสที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง หรือในโอกาสที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พระราชบัญญัติธง ประกาศให้ชักได้ หรือในโอกาสที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
๕. การชักธงชาติในข้อ ๓,๔ ต้องชักตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง คือ
  ๕.๑ ต้องชักธงชาติไทยไว้กับธงต่างประเทศนั้นด้วย
  ๕.๒ ถ้าชักธงต่างประเทศ ประเทศเดียว ต้องให้ธงชาติไทยเคียงคู่อยู่ข้างขวาของธงชาติต่างประเทศ ดูจากภายในสถานที่ที่ชักธง
  ๕.๓ ถ้าชักธงชาติต่างประเทศมากกว่าประเทศเดียว ซึ่งรวมกับธงชาติไทยเป็นจำนวนคี่ต้องให้ธงชาติไทยอยู่กลาง
  ๕.๔ ถ้าชักธงชาติต่างประเทศมากกว่าประเทศเดียว ซึ่งรวมกับธงชาติไทยเป็นจำนวนคู่ต้องให้ธงชาติไทยอยู่กลางข้างขวา ดูจากภายในสถานที่ที่ชักธง
  ๕.๕ ธงชาติไทยที่ชักอยู่กับธงต่างประเทศนั้น ต้องมีขนาดไม่เล็กกว่าธงต่างประเทศและต้องอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าธงชาติต่างประเทศที่ชักขึ้น ทั้งต้องมีลักษณะบริบูรณ์ ไม่ขาดวิ่นเลอะเลือน
๖. ข้อบังคับซึ่งกล่าวมานี้ ห้ามมิให้ใช้บังคับภายในห้องของบ้านหรือโรงเรียน
 ๗. ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการต่อไปนี้
  ๗.๑ ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ นอกจากที่อนุญาตไว้ใน พระราชบัญญัติธง หรือกฎหมายอื่น ลงบนธงชาติ
  ๗.๒ ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ ลงในแถบสีธงชาติโดยไม่ควร
  ๗.๓ ใช้ ชัก หรือ แขวนธงชาติ หรือแถบสีธงชาติที่ได้ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายใด ๆ อันต้องห้ามในข้อ ๗.๑ และ ๗.๒ ลงไว้ แม้ว่าจะเป็นรูปหรือเครื่องหมายที่ปรากฏหรือมีอยู่ก่อนวันประกาศใช้ พระราชบัญญัติธง
  ๗.๔ ใช้ ชัก หรือ แขวนธงชาติ หรือแถบสีธงชาติไว้ ณ สถานที่อันไม่สมควร หรือวิตถารวิธี
  ๗.๕ แสดงกิริยา วาจา หรืออาการอย่างหนึ่งอย่างใด หยาบคายต่อธงชาติหรือแถบสีธงชาติ
  ๗.๖ ประดิษฐ์สีธงชาติ หรือแถบสีธงชาติลง ณ สถานที่หรือสิ่งของใด ๆ โดยไม่สมควร หรือแสดงหรือใช้สถานที่หรือสิ่งของอันยังมีรูปธงชาติหรือแถบสีธงชาติ ซึ่งประดิษฐ์ลงไว้โดยไม่สมควรนั้น แม้ว่ารูปธงชาติหรือแถบสีธงชาติเช่นว่านั้นจะปรากฏหรือมีอยู่ก่อนวันใช้ พระราชบัญญัติธง  

บทกำหนดโทษ
๑.ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในข้อบังคับ ๑-๕ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท จำคุกไม่เกิน ๓ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
๒.ผู้ใดชักธงชาติหรือแสดงธงอย่างในอย่างหนึ่งในพระราชบัญญัติ โดยไม่มีสิทธิ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท จำคุกไม่เกิน ๒ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
๓.ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งข้อ ๗ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๒๐๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น