อันตรายของหูจากเสียงดัง


หูของคนเรามีหน้าที่ในการรับฟังเสียง และควบคุมการทรงตัว ประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่คือ หูชั้นนอก ที่นับตั้งแต่ใบหู ช่องหู ไปจนถึงแก้วหูหรือเยื่อบุแก้วหู ส่วนที่สองคือ หูชั้นกลางประกอบด้วยแก้วหู ช่องหูชั้นกลาง ที่มีกระดูกหูเล็กๆ 3 ชิ้นได้แก่ กระดูกรูปค้อน ทั่งและโกลน ช่วยในการส่งและขยายเสียง ส่วนสุดท้ายคือ หูชั้นใน ที่เป็นอวัยวะรูปก้อนหอย และอวัยวะรับรู้การทรงตัว

เสียงที่เราได้ยินนั้น มาในรูปของพลังงานคลื่นที่สั่นสะเทือนผ่านอากาศเข้ามาในช่องหู แล้วเกิดการสั่นสะเทือนต่อเนื่องมากระทบแก้วหู การสั่นสะเทือนนี้จะส่งผ่านกระดูกหู 3 ชิ้นดังกล่าวที่อยู่ต่อเนื่องกันเข้ามาในอวัยวะรับเสียงรูปก้นหอยของหูชั้นในแล้วจึงแปลงสัญญาณของคลื่นเสียงไปเป็นกระแสประสาทส่งผ่านเส้นประสาทรับการได้ยินสู่สมอง แปลความเป็นการรับรู้ของเสียงต่างๆ และข้อมูลคำพูดที่ทำให้เราเข้าใจต่อไป

ลักษณะของเสียงแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ ความดัง ความถี่ และคุณภาพของเสียง ในเรื่องของความดังได้แก่ เสียงดัง เสียงเบา เสียงกระซิบ เป็นต้น ในเรื่องของความถี่คือ เสียงสูงเสียงต่ำ เสียงทุ้มเสียงแหลม และในเรื่องของคุณภาพเสียง คือเสียงเพราะ เสียงแก้ว เสียงเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ เป็นต้น การได้ยินเสียงเป็นสุนทรีภาพอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ การได้รับฟังเสียงดนตรีที่มีห้วงทำนองเสียงสูงเสียงต่ำพอเหมาะ เสียงนักร้องที่ร้องเพลงได้ไพเราะ ความดังของเสียงที่พอดี ในทางตรงข้ามเสียงที่ดังหนวกหู น่ารำคาญก็ก่อให้เกิดความหงุดหงิด เป็นทุกข์ได้เช่นกัน และนอกจากเสียงดังเกินไำปก็ก่อให้เกิดโทษ และเป็นอันตรายต่อหูด้วย

ในการวัดระดับความดังของเสียง มีหน่วยที่เรียกว่า "เดซิเบล (DECIBEL)" ตามปกติคนเราจะเริ่มได้ยินเสียงที่ระดับความดัง 10-20 dB
ระดับเสียงที่ 30 dB จะเป็นเสียงกระซิบเบาๆ
ระดับเสียงที่ 40-60 dB จะเป็นเสียงพูดสนทนาที่ใช้อยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน
ระดับเสียงที่ 80 dB เริ่มรู้สึกหนวกหู เทียบได้กับเสียงกลางถนนขณะการจราจรติดขัด
ระดับเสียงที่ 80-90 dB จะเป็นประมาณในโรงงานที่มีเครื่องจักรเสียงดังทำงานอยู่
ระดับเสียงที่ 90-100 dB เป็นเสียงดังของเครื่องบินขณะบินขึ้น  

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดไว้ว่าเสียงที่เริ่มมีอันตรายต่อหู คือเสียงที่มีความดังระดับ 80-90 dB ขึ้นไปส่วนช่วงเวลาก้มีความสำคัญเช่นกันเพราะพบว่า ถ้าต้องทำงานในที่มีเสียงดังระดับ 80-90 dB จะต้องทำงานนั้นไม่เกิน วันละ 7-8 ชม. เพราะถ้าเกินกว่านี้จะเกิดอาการหูอื้อ นานไปจะทำให้ประสาทหูถูกทำลายจากเสียงดังได้

การใช้อุปกรณ์ป้องกันต่อหู เพื่อลดความดังของเสียงมี 2 แบบ - ที่ครอบหู จะปิดหูและกระดูกรอบ ๆ ใบหูไว้ทั้งหมด สามารถลดระดับความดังของเสียงได้ 20-40 เดซิเบลเอ - ปลั๊กอุดหู ทำด้วยยาง หรือพลาสติก ใช้สอดเข้าไปในช่องหูสามารถลดระดับความดังของเสียงได้ 10-20 เดซิเบลเอ การลดระยะเวลาในการรับเสียงของผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังเกินมาตรฐาน โดยจำกัดให้น้อยลง  

เกณฑ์กำหนดของระดับเสียงที่เป็นอันตราย ก. กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดมาตรฐานของระดับเสียงในสถานประกอบการต่าง ๆ ไว้ดังนี้คือ
1. ได้รับเสียงไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง ต้องมีระดับเสียงติดต่อกันไม่เกิน 91 เดซิเบล(เอ)
2. ได้รับเสียงวันละ 7-8 ชั่วโมง ต้องมีระดับเสียง ติดต่อกันไม่เกิน 90 เดซิเบล(เอ)
3. ได้รับเสียงเกินวันละ 8 ชั่วโมง ต้องมีระดับเสียง ติดต่อกันไม่เกิน 80 เดซิเบล(เอ)
4. นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในที่ ๆ มีระดับเสียงเกิน 140 เดซิเบล(เอ) ไม่ได้ ข. องค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่าระดับเสียงที่ดังเกินกว่า 85 เดซิเบล(เอ) ถือว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์
 นพ.ชัยยศ เด่นอธิยะกูล

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น