การทำทองคำเปลว ถือเป็นศิลปะ ไม่ใช่ใครเก่งกว่าใคร ใครมีเทคโนโลยีเหนือกว่าแล้วจะทำได้ ท้ายสุดก็ต้องอาศัยมือสองข้างของมนุษย์ค่อยๆ บรรจงติดแผ่นทองคำเปลว
การใช้ทองคำเปลวสันนิษฐานว่าเกิดในกลุ่มชนชาติแถบตะวันออกที่นับถือศาสนา พุทธมานานกว่า 1,500 ปี โดยมีชาวอินเดียเป็นต้นตำรับ ถ่ายทอดผ่านพม่ามายังลาวและไทย เมื่อประมาณสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
อุปกรณ์สำคัญคือ แผ่นทองใบซึ่งทำไว้เป็นแผ่นทองที่หยาบๆ หนาพอประมาณ เพื่อใช้สำหรับรีดทำทองคำเปลว แต่ทองใบนี้ทำไว้เพียงหยาบๆ จึงมีรอยย่อนรอยหยักอยู่บ้าง ดังนั้นก่อนเริ่มขั้นตอนการทำทองคำเปลวจึงต้องนำทองใบแผ่นนี้มารีดให้เรียบ เสมอกันก่อนจะตัดแบ่งเป็นส่วนๆ กว้างยาวเท่ากัน ด้านละ 6 มิลิเมตร
ภาษาช่างทองคำเปลวเรียกทองที่ตัดแบ่งแล้วว่า ตัวกุบ ตามปกติทองใบหนักหนึ่งบาทจะตัดแบ่งเป้นตัวกุบได้ประมาณ 800 ตัวส่วนเศษทองที่หงเหลือจากการตัดแต่งริม ช่างจะเก็บรวบรวมไว้ขายตามน้ำหนักราคาทองได้อีกที
ขั้นตอนต่อจากนี้ คือ กรรมวิธีการเตรียมตัวกุบให้พร้อมสำหรับการตีเป็นทองคำเปลว เริ่มจากหินแท่งสีขาวจนละเอียดค้ายแป้งนวล ลงไปบนตัวกุบเพื่อให้ทองล่อนไม่ติดกระดาษ แล้วจึงเอาทองใส่กุบเตรียมการตีให้เป็นทองคำเปลว
กุบที่ว่านี้ทำด้วยกระดาษรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาว 4 นิ้วเศษๆ นำมาซ้อนกันเป็นจำนวนพันแผ่น ใส่ในฝักหนังที่มีรูทะลุสำหรับเสียบเข้ากับไม้ประดับบนหินตีทองไม่ให้เื่อน ไปมาในเวลาตีทอง เมื่อจะตีทอง กุบ แต่ละตัวจะถูกนำมาวางลงบนกระดาษแต่ละแผ่นโดยวางตัวกุบให้อยู่กึ่งกลางกระดาษ พอดีไม่ให้เหลื่อมหรือผิดมุม ไม่อย่างนั้นทั้งแผ่นทองและกระดาษจะขาดได้ง่ายๆ ดีไม่ดีทองจะเสียได้ทั้งกุบทีเดียว
ตามธรรมดากุบใส่ทองกุบหนึ่งจะบรรจุทองได้ตั้งแต่ 720-800 ตัว การตีทองแต่ละครั้งจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ บุบเบาๆ 40-50 ครั้ง แล้วกับไปกลับมาอยู่อย่างนี้อีก 3-4 ครั้งก่อนจะเริ่มตีด้วยทั่ง จนตัวกุบแผ่ออกประมาณนิ้วครึ่ง ขั้นตอนต่อจากนี้มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายขั้นตอน การตีทองคำเปลวต้องตีไปจนกระทั่งเนื้อทองแผ่ออกราวสี่นิ้วครึ่งแล้วจึงถ่าย ใส่แผ่นกระดาษ ขั้นตอนนี้จะมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เรื่องลมพัดมาจะทำให้ทองปลิวไปเสียหมดจึงต้องกางมุ้งใหญ่ๆในห้องเททอง หรืออาจจะเป็นห้องกระจก จากนั้นจะมีการตัดแต่งริมแผ่นกระดาษทองคำเปลวให้เรียบร้อย เสร็จแล้วใช้ไม้รีดทับแผ่นทองคำเปลวกับกระดาษให้สนิทเป็นเนื้อเดียวกันอีกที เป็นอันเสร็จ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น