สู้อาการปวดเข่า

คนทำงานเก่งที่สุดแอ๊คทีฟมักไม่หวั่นแม้งานหนักจะดาหน้าเข้ามาเท่าไหร่ แต่หากวันใดมีอาการปวดเข่าเข้ามารุกล้ำกล้ำกรายจนเดินไม่ไหวขึ้นมานี่สิ เก่งแค่ไหนก็อาจต้องยกธงขาว เพราะอุปสรรคครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก ปกติผู้สูงอายุและคนมีกิจกรรมมากมักเจอปัญหาปวดเข่าด้านหน้าหรือปวดสะบ้าเข่า ซึ่งอาการที่พบนั้นมีแตกต่างกันไป เช่น ปวดทางด้านหน้ารอบๆ สะบ้าเข่า ปวดมากเวลาขึ้นลงบันไดหรือหลังจากนั่งนานๆ บางรายอาจปวดข้างเดียวก่อน และต่อมาจึงปวดสองข้างสลับกันบางครั้งก็ไม่มีอาการบวมหรือข้อเข่าผิดรูปแต่อย่างใด สาเหตุยังไม่เป็นที่สรุปแน่ชัด แต่อาจเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายแต่กำเนิด หรือการใช้งานผิดท่า ทำให้เกิดแรงกระแทกมากกว่าปกติ เช่น ขึ้นลงบันได ไต่เขา นั่งงอเข่า (คุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ) เป็นเวลานาน ถ้าไม่รักษาจริงจังอาการก็จะเรื้อรังและรักษาหายยาก

ปวดเข่าอย่าชะล่าใจ ต้องรีบดูแล
หยุดหรือเลี่ยงกิจกรรมที่มีแรงกระแทกต่อผิวกระดูกหรือสะบ้า หากเป็นนักกีฬาควรหลีกเลี่ยงการกระโดด การวิ่ง และกีฬาบางประเภท เช่น วอลเลย์บอล บาสเกตบอล ควรออกกำลังด้วยการว่ายน้ำ หรือออกกำลังกายในห้องยิมที่มีผู้ดูแล (Nonimpact Elliptical)

ผู้ที่มีเท้าแบนควรเปลี่ยนรองเท้า หรือเสริมอุ้งเท้าจะสามารถลดอาการปวดลงได้ หลังออกกำลังกายหรือใช้งานเข่ามากๆ ควรประคบน้ำแข็งที่เข่า จะช่วยลดอาการปวดได้เร็วขึ้น นอกจากนี้อาจใช้ยาลดอาการปวดและอักเสบตามใบสั่งแพทย์ รวมทั้งยาเสริมกระดูกอ่อนตามสมควร
3 ท่าบริหาร สู้อาการปวดเข่า
ท่าที่ 1 : เกร็งกล้ามเนื้อต้นขา กดข้อพับเข่าลงกับเตียงให้ข้อเข่าเหยียดตรง เกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ 10-20 วินาที แล้วผ่อนทำซ้ำ 5-10 รอบ
ท่าที่ 2 : เกร็งกล้ามเนื้อต้นขาให้เข่าเหยียดตรง เกร็งกล้ามเนื้อ ยกขาลอยค้างไว้ 5-10 วินาที แล้วผ่อน ทำซ้ำ 5-10 รอบ
ท่าที่ 3 : ยึดกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง ยืนด้วยขาขวา งอสะโพก ยกขาซ้ายขึ้น ใช้มือทั้งสองข้างประคองข้างซ้าย เหยียดขาซ้ายออกให้ตรงจนรู้สึกตึงบริเวณท้องขา เกร็งกล้ามเนื้อค้างไว้ 5-10 วินาที แล้วผ่อน ทำซ้ำ 5-10 รอบ

หมั่นบริหารเช่นนี้ไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ไม่ควรหยุด เพราะมีโอกาสที่จะกลับมาปวดใหม่ การรักษาต้องใช้เวลานาน บางรายอาจนานถึง 6 สัปดาห์ขึ้นไป
source: รองศาสตราจารย์ นพ. ชาติชาย ภูกาญจนมรกต

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น